Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

ภาคนิพนธ์สามเกลอ



บทที่ 2

เกี่ยวกับผู้ประพันธ์และหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน

เกี่ยวกับผู้ประพันธ์

ป. อินทรปาลิต เป็นหนึ่งในนามปากกาของปรีชา อินทรปาลิต นักประพันธ์อมตะ ป. อินทรปาลิต เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2453 ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ที่ตำบลสะพานขาว อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของพันตรีพระวิสิษฐพจนการ และนางวิสิษฐพจนการ (ชื่น อินทรปาลิต) เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 7 คน

การศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนโสมนัสวิหาร ต่อมาในปี 2462 เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกตามความประสงค์ของบิดา แต่ลาออกก่อนสำเร็จเป็นนายทหาร เนื่องจากเป็นคนเจ้าสำราญ ชอบความ สนุกสนาน รักอิสระเสรี ไม่ชอบระเบียบข้อบังคับและวินัยทหารอันเข้มงวด ต่อมาเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8

การทำงานเข้ารับราชการในกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม หลังจากนั้นย้ายไปประจำกองทาง กรมโยธาเทศบาล แต่ทำงานได้ไม่นานตัดสินใจลาออกเพราะชอบชีวิตอิสระ จากนั้นประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่รับจ้างระยะหนึ่งก่อนเปลี่ยนไปทำงานในเรือโยงของญาติ และได้เป็นนายท้ายเรือโยงซึ่งแล่นขึ้นล่องระหว่างกรุงเทพ-ปากน้ำโพ

ในปี 2472 สมรสกับนางสาวไข่มุกต์ วีระวัฒน์ ข้าหลวงในพระองค์เจ้าประดิษฐาสารี มีบุตรธิดาร่วมกัน 2 คน คือ ฤทัย อินทรปาลิต และ ฤดี (อินทรปาลิต) เคนนี่

บิดาของ ป. อินทรปาลิต เป็นทั้งอาจารย์ นายทหาร และเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสนาศึกษาและแพร่วิทยาศาสตร์ ป. อินทรปาลิต ได้เห็นการทำงานของพ่อและประกอบกับการชอบการท่องเที่ยว รวมทั้งมีความสามารถในด้านการเขียนการประพันธ์ ป. อินทรปาลิต จึงหัดประพันธ์หนังสือโดยเริ่มจากเรื่องสั้น แล้วส่งไปลงในนิตยสารรายสัปดาห์ในสมัยนั้น ซึ่งก็ได้ลงบ้างและไม่ได้ลงบ้าง

ด้วยนิสัยรักการอ่านการเขียนในเวลาว่างจึงเขียนนิยายเรื่องต่างๆ เก็บไว้มากมาย เป็นการเขียนจากจินตนาการและประสบการณ์ของตนเพื่ออ่านกันในหมู่พี่น้องโดยมิได้ตั้งใจจะส่งไปตีพิมพ์ หนึ่งในหลายเรื่องที่เขียนคือ “นักเรียนนายร้อย” ซึ่งพี่และน้องยอมรับว่า “ดีที่สุด” จึงให้ไข่มุกต์นำไปเสนอสำนักพิมพ์

“คณะนายอุเทน” เห็นว่าเป็นนักเขียนมือใหม่จึงปฏิเสธ

“เพลินจิตต์” ของนายเวช กระตุฤกษ์ รับตีพิมพ์เพราะ ส.บุญเสนอ นักเขียนในสังกัดของ เพลินจิตต์ยุคนั้นพิจารณาแล้วเห็นว่าควรสนับสนุนเนื่องจากเค้าโครงเรื่องถูกความนิยมของตลาดปรากฏว่า “นักเรียนนายร้อย” จำหน่ายขายดีเกินความคาดหมาย แฟนหนังสือร่ำลือกล่าวขวัญเจ้าของสำนักพิมพ์ก็พอใจ ชื่อเสียงของ ป.อินทรปาลิต โด่งดังเป็นนักเขียนชื่อดังคนหนึ่งในทันที และเขาได้เริ่มเขียนหนังสือขายเป็นอาชีพอย่างจริงจังโดยใช้นามปากกาว่า ป.อินทรปาลิต, ปิ๋ว

ในระยะแรกๆ ผลงานของเขาเป็นเรื่องรักโศกและนิยายชีวิต เช่น นักเรียนนายร้อย ยอดสงสาร สาวกำพร้า ลูกอสรพิษ หนามเตย เรียมจ๋า แผนสังหาร นางมารภัย คู่อาฆาต หนี้ชีวิต พี่จ๋า เสน่ห์ยาแฝด บ่วงมาร ผลกรรม

ต่อมา เมื่อตลาดหนังสือมีการเปลี่ยนแปลงนวนิยายรักโศกและนวนิยายชีวิตเสื่อมความนิยมลง ป. อินทรปาลิต ได้เปลี่ยนไปเขียนเรื่องแนวอื่นๆ อาทิ นิยายปลุกใจให้รักชาติ นิทานสำหรับเยาวชน เป็นต้น

ในต้นปี 2482 ป. อินทรปาลิตเริ่มเขียนนิยายจี้เส้นตลกขบขันประเดิมด้วยเรื่อง “อายผู้หญิง” ซึ่งเป็นบทแรกของหัสนิยายชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน ตัวเอกของเรื่องคือ พล พัชราภรณ์ กับ นิกร การุณวงศ์ เป็นลูกคนรวย แต่จอมแก่นและทะเล้นทะลึ่งซึ่งผู้อ่านชอบใจมาก นับแต่นั้นมา ป. อินทรปาลิต ก็เขียนเรื่องตลกขบขันออกมาอย่างต่อเนื่องไม่มีท่าทีว่าจะจบลงง่ายๆ หลังจากนั้นในตอนที่สาม คือ ตอนหวงลูกสาว ผู้ประพันธ์ได้การเพิ่มตัวละคร คือ อาเสี่ยกิมหงวน เจ้าคุณปัจจนึกฯ และธิดาทั้งสอง คือ ประภาและประไพเข้าไปในเรื่องด้วย ทำให้คนอ่านทั้งเด็กและผู้ใหญ่ชอบอกชอบใจติดตามอ่านเป็นประจำ สามเกลอ พล นิกร กิมหงวน เป็นที่กล่าวขวัญของคนทั่วไปจนผู้อ่านเข้าใจว่าสามเกลอ มีตัวตนจริงๆ หลังจากนั้นก็มีตัวละครเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น ดร. ดิเรก ณรงฤทธิ์ ดาราฝ่ายหญิงมี นันทา ประภา ประไพ นวลละออ ตัวละครอาวุโสมี เจ้าคุณปัจจนึกฯ เจ้าคุณและคุณหญิงประสิทธิ์ฯ ลุงเชย เจ้าสัมกิมไซ และเจ้าคุณวิจิตรฯ และคนใช้ก็คือ เจ้าแห้ว ตัวละครเหล่านี้เป็นที่รู้จักของนักอ่านเป็นอย่างดี

ในปลายปี 2484 สงครามมหาเอเชียบูรพาอุบัติขึ้น ญี่ปุ่นเคลื่อนทัพเข้าประเทศไทย ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม ประชาชนได้รับความลำบากเดือดร้อน หนังสือนิยายขายได้น้อยลง ประกอบกับกระดาษพิมพ์อันเป็นอุปกรณ์สำคัญเกี่ยวกับธุรกิจหนังสือขาดแคลน สำนักพิมพ์หยุดพิมพ์หนังสือออกจำหน่าย ป.อินทรปาลิต จำต้องลดการเขียนหนังสือลงและหารายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวด้วยอาชีพพากย์หนังทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในช่วงนี้มีหนังสือสามเกลอ ออกสู่สายตานักอ่านน้อยมาก จนกระทั่งสิ้น วิกฤตการณ์สงคราม ป.อินทรปาลิต จึงหวนกลับมาเขียนหนังสือเป็นอาชีพหลักต่อไป

ในปี 2490 ได้ทำหนังสือชื่อ “ปิยะมิตร” เป็นการรวมเรื่องหลายรสโดยเขียนคนเดียวเกือบทั้งหมด โดยมีหัสนิยายชุดสามเกลอเป็นเรื่องเอก และออกจำหน่ายทุกวันเช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ทั่วไป และในปีเดียวกันนี้เองได้สร้างนวนิยายบู๊โลดโผนเรื่อง “เสือใบ” ออกอาละวาดในปิยะมิตรด้วย ดำเนินงานให้ “ปิยะมิตร” ประมาณ 2 ปี จึงออกมาเขียนหนังสือขายอย่างอิสระ ซึ่งมีทั้งสามเกลอ เรื่องบู๊ชุด “เสือดำ”, “ดาวโจร” , “ลูกดาวโจร” และเรื่องแนวอื่นๆ

ปี พ.ศ. 2494 ไข่มุกต์ภรรยาคนแรกถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจขณะอายุได้ 39 ปี จึงอยู่กินกับปรานี แพรวพราย ภรรยาคนที่สองเรื่อยมา

พ.ศ. 2506 ทำหนังสือขนาด 8 หน้ายกชื่อ “ศาลาโกหก” (เรื่องเบาสมอง), “ศาลาดาวร้าย” (เรื่องบู๊), “ศาลาระทม” (เรื่องชีวิตรักโศก), “ศาลาปีศาจ” (เรื่องผี) และ “นิทานคุณหนู” ออกสู่ตลาดประชันกันเดือนละเล่ม ซึ่งหนังสือเหล่านี้ต้องเขียนคนเดียวทั้งหมด และยังเขียนสามเกลอพ็อคเก็ตบุ๊คอีกต่างหากด้วย ทำให้ไม่มีเวลาเพียงพอ ในที่สุดจึงคงเหลือแต่ “ศาลาโกหก” เพียงฉบับเดียวที่ยืนหยัดอยู่บนแผงหนังสือเคียงคู่กับสามเกลอเล่มเล็ก ตลอดจนเรื่องประเภทอื่นอีกจำนวนหนึ่งเท่านั้น

ป.อินทรปาลิต เขียนหนังสือได้หลายแนว และเขียนให้คนทุกชั้นอ่าน โดยเฉพาะคนชั้นกลาง งานเขียนของเขาจะสะท้อนภาพชิวิตคนชั้นกลางและเขียนด้วยภาษาง่ายๆ ประวัติของ ป.อินทรปาลิต เป็น พื้นฐานเบื้องต้นสำหรับการทำความรู้จักเรื่องราวของ พล นิกร กิมหงวน จะเห็นได้ว่าโดยนิสัยส่วนตัวของ ผู้ประพันธ์แล้ว ป.อินทรปาลิตเป็นคน “เจ้าสำราญ ชอบสนุก และมีนิสัยชอบอิสระ” ซึ่งคุณลักษณะเช่นนี้ได้สะท้อนให้เห็นได้ในบุคลิกของตัวละคร พล นิกร กิมหงวน อย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งประสบการณ์ต่างๆ ที่เขาได้รับจากการเป็นเสมียน คนขับแท็กซี่ และนายท้ายเรือกลไฟ เขาสามารถนำมาผูกเป็นเรื่องราวสร้างความสนุกสนานให้กับผู้อ่านได้เป็นอย่างดี

การเร่งทำงานหนักโดยมีเวลาพักผ่อนและออกกำลังกายน้อย ทำให้สุขภาพ ป.อินทรปาลิต ทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว และเริ่มมีโรคประจำตัวต่างๆ จนกระทั่งปลายปี 2510 อาการป่วยทรุดลงจนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สาเหตุจากเบาหวานโรคประจำตัวตั้งแต่ปี 2498 รักษาตัวอยู่ประมาณ 2 เดือนจึงได้กลับมาพักฟื้นที่บ้านและเริ่มเขียนหนังสือต่อไป

ต่อมาในปี 2511 ปลายเดือนมีนาคมเข้าโรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นครั้งที่สอง เพราะมีความผิดปกติเกี่ยวกับปอดแทรกซ้อนอาการโรคเบาหวาน และได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะโรคเป็นเวลานานเกือบ 3 เดือน จนสุขภาพดีขึ้นในขั้นน่าพอใจแพทย์จึงอนุญาตให้กลับไปรักษาตัวที่บ้าน แต่ต้องไป โรงพยาบาลเพื่อตรวจร่างกายทุกเดือนตามกำหนดนัดของแพทย์ แม้ว่าร่างกายกำลังเผชิญสภาวะเจ็บไข้ แต่ ป. อินทรปาลิต ก็ยังเขียนหนังสืออยู่เสมอ ผลงานล่าสุดซึ่งไม่ใช่ “พล นิกร กิมหงวน” หรือ “ศาลาโกหก” ก็คือ “สังเวียนชีวิต” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ประจำวันอาทิตย์ สมัยที่มีสนิท เอกชัย เป็นบรรณาธิการ จนกระทั่งอาการป่วยกำเริบมาก ป.อินทรปาลิต จึงจำต้องย้ายไปอาศัยกับญาติสนิท เพราะต้องการคนดูแลประกอบกับเสียการขอร้องของญาติมิตรไม่ได้ จนกระทั่งวันพุธที่ 25 กันยายน 2511 ป. อินทรปาลิต ก็ถึงแก่กรรมลงในบ้านซอยโชคชัยร่วมมิตรของญาตินั่นเอง (อ้างอิงจาก : 1. เริงไชย พุทธาโร , “ป.อินทรปาลิต ชีวิตของคนขายฝัน” , กองบรรณาธิการนิตยสารถนนหนังสือ , กทม. , 2529. 2. ปริญญา อินทรปาลิต , “โลก ส่วนตัวของ ป.อินทรปาลิต” , ชมรมนักอ่านสามเกลอ , http://www.samgler.org และ 3. พนิดา อิ่มสบาย , “บทสรุปของละครเรื่อง พล นิกร กิมหงวน” (สารนิพนธ์) , ภาคการศึกษาที่ 2/2532 , คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน , มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.)

เกี่ยวกับหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน

ราวปลายปีพุทธศักราช 2481 ป. อินทรปาลิต ได้เริ่มประพันธ์หัสนิยายตลกเบาสมองเรื่อง “อาย ผู้หญิง” ขึ้น โดยมีพล พัชราภรณ์ และนิกร การุณวงศ์ สองหนุ่มจอมกะล่อนเป็นตัวเอก “อายผู้หญิง” ได้รับการต้อนรับจากนักอ่านอย่างกว้างขวางเกินความคาดหมาย ป. อินทรปาลิต จึงเสกสรรหัสนิยายชุดนี้ออกมาสู่ถนนหนังสือทีละบททีละตอนอย่างไม่ขาดสาย และได้เพิ่มตัวละครสำคัญๆ ขึ้นมาอีกหลายคน เช่น เจ้าคุณปัจจนึกพินาศ, กิมหงวน และ ดร. ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ เป็นต้น จนกระทั่งหัสนิยายชุดนี้ได้รับการเรียกขานกันอย่างติดปากว่า “ชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน”

บทบาทของพล พัชราภรณ์ , นิกร การุณวงศ์ , กิมหงวน ไทยแท้ , ศักดิ์แห้ว โหระพากุล , คุณหญิงวาด , เจ้าคุณประสิทธิ์นิติศาสตร์ , เจ้าคุณวิจิตรบรรณาการ , นายเชย พัชราภรณ์ , เจ้าสัวกิมเบ๊ , เจ้าสัวกิมไซ และแม่เสือทั้งสี่ คือ นันทา , ประไพ , นวลละออ และ ประภา ได้สร้างความบันเทิงให้กับแฟนๆ นักอ่านอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนานกว่า 30 ปี อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยว่าจะมีนวนิยายเรื่องใดในวงการวรรณกรรมไทย ที่จะใช้ตัวละครชุดเดียวแต่สามารถครองใจผู้อ่านได้ยาวนาน จนกระทั่งมีจำนวนมากมายนับพันตอนเช่นหัสนิยายชุดนี้

เรื่องราวและเหตุการณ์ที่อุบัติขึ้นในสังคมได้ถูก ป.อินทรปาลิต บันทึกไว้เป็นฉากในหัสนิยาย ชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน อย่างมากมายเหลือคณานับ ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ได้กล่าวถึง ป.อินทรปาลิตกับหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน ไว้ในรายการ “ครอบจักรวาล” ทางสถานีวิทยุ ท.ท.บ. เอ็ฟ.เอ็ม เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2529 ความว่า

ว่า “ป.อินทรปาลิต ได้สร้างตัวละครสามเกลอ พล นิกร กิมหงวนขึ้น โดยเอาเหตุการณ์ประจำวันในแวดวงของบ้านเมืองมาเขียนเป็นนิยายชุดสามเกลอ เป็นเรื่องดีๆ ทั้งนั้นแหละครับ ป. อินทรปาลิต นอกจากจะเขียนนวนิยายตลกโปกฮาแล้วยังเป็นนักบันทึกประวัติศาสตร์คนสำคัญเลยทีเดียว”

แนะนำตัวละครสำคัญ

1. พล พัชราภรณ์ เป็นชายหนุ่มรูปร่างสมส่วน หน้าตาสวยเก๋ (ป.อินทรปาลิตเปรียบเทียบพลกับไทโรน เพาเวอร์) สมาร์ท มีเสน่ห์ สุภาพอ่อนโยน (โดยเฉพาะกับผู้หญิง) เจ้าชู้ เป็นนักกีฬาที่สามารถเล่นกีฬาได้หลายชนิด เช่น มวย ฟุตบอล เป็นสุภาพบุรุษ เป็นคนพึ่งพาได้ ฉลาดรอบคอบ กล้าหาญ ไม่เย่อหยิ่งจองหอง และในอีกด้านหนึ่งเป็นจอมเจ้าชู้ เสือผู้หญิงชั้นครู หมื่นทะเล้นขนาดหนัก แต่รักษากิริยาท่าทางเก่ง มีกิริยามารยาทดี รู้จักกาลเทศะ สุภาพอ่อนน้อม เป็นคนคมลึก ร้ายลึก และร้ายเงียบ มีความเป็นผู้นำ และเป็นผู้นำของคณะสี่สหาย พลสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จากโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ และเป็นบุตรชายโทนของเจ้าคุณประสิทธิ์นิติศาสตร์ กับคุณหญิงช้อย (ภายหลัง ป. อินทรปาลิต ได้เปลี่ยนชื่อเป็น คุณหญิงวาด) ข้าราชการบำนาญของกระทรวงยุติธรรม อดีตผู้พิพากษา และเป็นคหบดีผู้มั่งคั่งเป็นอย่างยิ่ง โดยรวมแล้ว พลคือพระเอก เป็นชายหนุ่มในอุดมคติ เป็นพระเอกในฝันของหญิงสาวทั้งหลายคือ มีพร้อมทั้งรูปสมบัติ คุณสมบัติ และทรัพย์สมบัติทุกประการ หมื่นทะลึ่งสนุกสนานเป็นเพื่อนยามเราเหงา รูปงาม อ่อนโยน มีเสน่ห์ในตอนที่ต้องการความโรแมนติก รูปหล่อ พ่อรวย กิริยามารยาทงามนำไปอวดเพื่อนฝูงได้ไม่ต้องกลัวอายใคร

2. นิกร การุณวงศ์ เป็นชายหนุ่มรูปร่างเล็ก ปราดเปรียว หน้าตาอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ออกจะ หน้าทะเล้น หน้าเป็น ขี้เล่น อารมณ์ดี หมื่นทะเล้นทะลึ่งตึงตังอย่างที่สุด ไม่หยิ่งยโส ง่วงเหงาหาวนอนตลอดวัน สามารถหลับได้ทุกที่ทุกเวลา กินจุ กินบ่อย กินเก่ง ขี้ขลาดตาขาว ไม่ชอบอาบน้ำ ขี้เกียจ บ้าลิเกชอบร้องลิเกทุกที่ทุกเวลา มีความใฝ่ฝันอยากสวมบทบาทโจรป่าชื่อว่ากระดิ่งทอง มีความสามารถด้านการแสดงการละเล่นแบบไทยๆ หลายอย่าง เช่น เพลงฉ่อย ลำตัด ตะลุง ฯลฯ มีความสามารถพิเศษในด้านมือกาว เป็นนักล้วงนักจิกฝีมือดีกว่ามืออาชีพ นิกรเป็นคนที่มีพรสวรรค์ และสัมผัสพิเศษ มีความสามารถพิเศษแปลกๆ ให้ทึ่งอยู่เสมอ เช่น ด้านไสยศาสตร์ จิตศาสตร์ เป็นฮีโร่ที่พึ่งพิงได้ในยามคับขัน แต่ไม่ใช่บุคลิกพระเอกแบบพล เป็นคนฉลาด เก่ง เอาตัวรอดได้ในทุกสถานที่ทุกสถานการณ์ทุกเวลา แต่ซ่อนความสามารถไว้ในสภาพของคนขี้เกียจ ชอบกินและนอนตลอดวัน นิกรสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จากโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์เช่นเดียวกับพล และเป็นบุตรชายของเจ้าคุณวิจิตรบรรณาการ ข้าราชการบำนาญกระทรวง เศรษฐการ และเป็นคหบดีที่มั่งคั่งเป็นอย่างยิ่ง มารดาเสียชีวิตไปนานแล้ว มีพี่สาวหนึ่งคนคือ นันทา ซึ่งเป็นภรรยาของพล

3. กิมหงวน ไทยแท้ เป็นชายหนุ่มรูปร่างผอมสูง (ป. อินทรปาลิต ให้กิมหงวนสูงถึง 6 ฟุต 3 นิ้ว ซึ่งเท่ากับประมาณ 187-188 เซนติเมตร แต่มีน้ำหนักเพียง 65-67 กิโลกรัม อยู่ในลักษณะที่เรียกว่าสูง โย่งโก๊ะ ) หน้าตาบอกชัดเจนว่าเป็นลูกจีน และทะลึ่งอย่างที่สุด มักวางท่าทางหยิ่งยโส ถือตัว แต่จริงๆ แล้วเป็นคนสนุกสนานไม่ถือสาหาความเอาเรื่องเอาราวกับใคร บ้ายอ ใจดี และใจกว้าง และสปอร์ตอย่างที่สุด จริงใจ รักเพื่อน และรักและเกรงกลัวภรรยาเป็นอย่างมาก ขี้ขลาดตาขาวพอๆ กับนิกร ชอบอวดเบ่งในบางโอกาส แต่เป็นคนไม่สู้คน ไม่ชอบมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับใคร ชอบอวดเศรษฐี ไม่ยอมให้ใครดูถูกดูหมิ่นในเรื่องความร่ำรวยอย่างเด็ดขาด ชอบฉีกแบงค์อวดคน นิสัยหมื่นทะเล้นทะลึ่งตึงตังอย่างหาใครมาเปรียบสู้ไม่ได้ พูดจาขวานผ่าซากไม่เข้าหูคนและขวางโลกเป็นบางครั้ง เป็นคนเสียงดัง บางครั้งเอะอะเอ็ดตะโร แหกปากหัวเราะ ใส่แว่นตาขอบกระตลอดเวลา แต่ถ้าถอดแว่นออกเมื่อไหร่จะเปลี่ยนบุคลิกทันทีกลายเป็นกล้าอย่างบ้าบิ่น ไม่ยอมแพ้ไม่ยอมลงให้ใคร โมโหร้าย พร้อมที่จะทะเลาะวิวาทกับทุกคนที่เขาไม่พอใจ เป็นคนฉลาด มีความสามารถในทางการพานิชย์การค้าและธุรกิจเป็นอย่างมาก สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จาก โรงเรียนอัสสัมชัญ เป็นบุตรชายของเจ้าสัวกิมเบ๊ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศไทย

4. ดร. ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ ชายหนุ่มรูปร่างสันทัดค่อนข้างผอม หน้าตาอยู่ในเกณฑ์ดี สวมแว่นสายตากรอบทอง คาบกล้องยาเส้น สมาร์ท สุภาพเรียบร้อย คงแก่เรียนเป็นนักวิชาการ หยิ่งและถือตัวเล็กน้อยในบางโอกาส มีบางครั้งที่หมื่นทะลึ่งบ้างไม่มากนัก เป็นนายหัวนอกเพราะเป็นนักเรียนนอก เป็นทั้งนายแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จากอังกฤษ ยกย่องฝรั่งมาก แต่คลั่งไคล้อินเดียและมหาราชา พูดภาษาไทยได้ ชัดเจน แต่ชอบพูดไทยคำอังกฤษคำ ติดพูดคำว่า ออไรต์ (Allright) และพูดภาษาไทยมี Verb to be เรียกแทนตัวเองว่าฝรั่ง เช่น เป็นสนุก เป็นอร่อยมาก ฝรั่งเป็นไม่ชอบ ฝรั่งเป็นดีใจ เป็นต้น ดิเรกศรัทธาและนิยมยกย่องในประเทศอินเดียมากจะพูดยกย่องถึงคุณงามความดีของอินเดียและมหาราชาองค์ต่างๆ อยู่เสมอ และจะต้องขึ้นต้นว่า “ท่านมหาราชาองค์หนึ่ง…....” เป็นคนมีความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์สมกับเป็น นายแพทย์ที่ดี และยังเป็นคนมุ่งมั่นไม่ว่าจะทำอะไรต้องพยายามทำจนสำเร็จ ชอบค้นคว้า ทดลอง และประดิษฐ์สิ่งต่างๆ อยู่เสมอ ตามวิสัยนักวิทยาศาสตร์ที่ดี ดิเรกเป็นหมอและนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถมาก และไม่เคยเลยที่ว่าตั้งใจทำอะไรแล้วทำไม่สำเร็จ เป็นบุตรชายโทนของพระยานพรัตนไมตรี ข้าราชการบำนาญของกระทรวงการต่างประเทศ และมีฐานะอยู่ในขั้นเศรษฐีคนหนึ่ง

5. นันทา เป็นภรรยาของพล และพี่สาวแท้ๆ ของนิกร เป็นหญิงสาวสวย ผิวขาว รูปร่างสูงโปร่ง เก่งทั้งการสมาคมและงานบ้านงานเรือน อ่อนหวาน เรียบร้อย แต่ก็คล่องแคล่ว ปราดเปรียวผสมกันอย่าง พอดี รักใคร่และหึงหวงพลเป็นอย่างมาก มีเรื่องทะเลาะถกเถียงกับนิกรอยู่เสมอแต่ก็เป็นพี่น้องที่รักกันมาก สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนสายปัญญา เป็นบุตรสาวของเจ้าคุณวิจิตรบรรณาการ

6. นวลละออ ภรรยาของกิมหงวน มีคุณวุฒิเป็นนักพละเอกหญิงคนแรกของประเทศไทย รูปร่างดีมากสูงและสมส่วน หน้าตาสวยคมเข้ม (ป. อินทรปาลิต ได้ให้คำบรรยายว่า สวยขนาดนางสาวไทยทุก พ.ศ. มารวมกันก็ยังสู้ไม่ได้) เป็นสาวเปรี้ยว ปราดเปรียวคล่องแคล่วและโลดโผน แต่ก็ดูแลงานบ้านงานเรือนเป็นแม่บ้านได้ดีจนพ่อสามีรักใคร่เอ็นดูมาก จนกลายเป็นรักลูกสะใภ้มากกว่าลูกชาย รักกิมหงวนมากแต่มักแสดงกิริยาวาจาตรงกันข้ามคือ ชอบข่มขู่และซ้อมกิมหงวนเพื่อตัดไม้ข่มนามไว้ก่อนไม่ให้กิมหงวนได้ใจและเหลิง เป็นบุตรสาวของคุณนายลิ้นจี่ บิดาคือหลวงมัฆวานรังสรรค์ ซึ่งเสียชีวิตไปนานแล้ว

7. ประภา ภรรยาของดิเรก มีคุณวุฒิเป็นพยาบาลและผดุงครรภ์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นหญิงสาวสวยสะอาด รูปร่างเล็กบาง เรียบร้อยอ่อนหวาน ใจเย็น พูดจาไพเราะมีเหตุมีผลแต่ไม่ช่างพูดช่างคุยมากนัก เป็นบุตรสาวของเจ้าคุณปัจจนึกพินาศ

8. ประไพ ภรรยาของนิกร เป็นบุตรสาวเจ้าคุณปัจจนึกพินาศและเป็นน้องสาวของประภา เป็น ผู้หญิงรูปร่างเล็ก สวยน่ารักแบบ กระจุ๋มกระจิ๋ม ช่างพูดช่างคุย สดใสร่าเริง มีความห้าวและนักเลงอยู่ในตัวเล็กน้อยและยังติดนิสัยทะเล้นมาจากสามีมากพอสมควรด้วย

9. พระยาวิจิตรบรรณาการ บิดาของนิกรและนันทา ข้าราชการบำนาญ (น่าจะเป็นกระทรวงเศรษฐการหรือกระทรวงพาณิชย์) มีอาวุโสสูงสุดในหมู่ตัวละครที่ปรากฏ เจ้าคุณฯ มีพี่สาวชื่อ “คุณท้าวใหญ่” ถวายตัวเป็นข้าราชการฝ่ายในที่วังแห่งหนึ่งย่านบางขุนพรหม คุณท้าวท่านนี้เฮี้ยบ เจ้าระเบียบ ลูกหลานกลัวมากที่สุด มีน้องสาวชื่อ “ช้อย” ซึ่งเป็นคุณหญิงของเจ้าคุณประสิทธิ์ฯ และเปลี่ยนชื่อเป็น “คุณหญิงวาด”

10. พระยาประสิทธิ์นิติศาสตร์ บิดาของพล เป็นข้าราชการบำนาญกระทรวงยุติธรรม อดีต ผู้พิพากษา พื้นเพเดิมเป็นชาวโกรกพระ จ. นครสวรรค์ ศีรษะล้าน ปกติเป็นคนใจเย็น แต่ถ้าถูกล้อหัวล้านจะโมโห ยอมอยู่ใต้อำนาจของภรรยา คือ คุณหญิงวาดเป็นอย่างดี

11. คุณหญิงวาด เดิมผู้ประพันธ์ให้ชื่อว่าช้อย เป็นมารดาของพล ภรรยาเจ้าคุณประสิทธิ์ฯ และเป็นน้องสาวของเจ้าคุณวิจิตรฯ เป็นคนมีความเมตตากรุณาต่อผู้ที่ด้อยโอกาส ขี้สงสาร ปากร้ายใจดี โกรธง่ายหายเร็ว เวลาโกรธแล้วจะเห็นช้างเท่าหมู ขี้บ่นมาก เชื่อในเรื่องไสยศาสตร์เรื่องดวงต่างๆ กินหมากเป็นประจำตลอดทั้งวันและทุกวัน เวลาพูดชอบทำน้ำหมากกระเด็นใส่คนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้

12. พระยาปัจจนึกพินาศ เป็นบิดาของประภาและประไพ เป็นพ่อตาของดิเรกและนิกร รูปร่างอ้วนเตี้ย ศีรษะล้านลักษณะเดียวกับขุนช้างและมีขนหน้าอก ขี้ใจน้อย จะโกรธและโมโหโทโสมากถ้าได้ยินใครล้อเลียนหัวล้านและพูดถึงหัวล้าน เป็นคนทันสมัยชอบสนุกสนาน เฮฮา เป็นกันเองกับลูกหลาน มีอารมณ์ขัน เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว ช่างคิดชอบค้นคว้าประดิษฐ์ บ้ายอ เจ้ากี้เจ้าการ ถ้าได้รับการยกย่องยอมรับจะยอมทำงานจนสายตัวขาด เป็นข้าราชการบำนาญกระทรวงกลาโหม เป็นนายทหารสัญญาบัตรยศพลโท นามเดิม “อู๊ด ศิริสวัสดิ์” มีน้องชายชื่อ “อี๊ด ศิริสวัสดิ์” เป็นพ่อค้าอยู่ที่หนองคาย เจ้าคุณปัจจนึกฯ นายอี๊ด และเจ้าคุณประสิทธิ์มีบุคลิกที่สอดคล้องกันคือหัวล้าน

13. ลุงเชย เป็นพี่ชายของเจ้าคุณประสิทธิ์ฯ มีอาชีพเป็นพ่อค้าฟืน ฐานะระดับเศรษฐีอยู่ที่ อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ มักทำตัวเป็นบ้านนอกเข้ากรุง ซึ่งในยุคนั้นเรียกบุคลิกเช่นนี้ว่า เปิ่น หัวมันเทศ เปิ่นเทิ่นมันเทศ เมื่อหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวนได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนเป็นอย่างมาก ผู้อ่านต่างก็รู้จักและชอบใจในบุคลิกของลุงเชยเป็นอย่างดี คำว่า “ลุงเชย” จึงกลายเป็นคำพูดที่แสดงบุคลิกดังกล่าวแทนที่คำว่าเปิ่นเทิ่นมันเทศ กลายเป็นสำนวนว่า “ทำตัวเป็นลุงเชย” และต่อมาก็ถูกตัดทอนให้สั้นลงเหลือเพียงคำว่า “เชย” มาจนถึงทุกวันนี้ ลุงเชยเป็นคนขี้เหนียวอย่างที่สุด และยังหัวหมอรู้มากอีกด้วย

14. พระยานพรัตนไมตรี เป็นบิดาของดิเรก ข้าราชการบำนาญกระทรวงการต่างประเทศ ไม่มีบทบาทมากนัก

15. เจ้าสัวกิมเบ๊ มหาเศรษฐีร่ำรวยอันดับ 1 ของประเทศ มีพี่ชายชื่อเจ้าสัวกิมไซ ทั้งสองพี่น้องพูดภาษาไทยไม่ชัดและติดฝิ่นงอมแงม เป็นต้นตระกูล “ไทยเทียม” หลังจากเจ้าสัวกิมเบ๊ตาย กิมหงวนบุตรชายเปลี่ยนนามสกุลเป็น “ไทยแท้”

16. เจ้าสัวกิมไซ เป็นลุงของกิมหงวน อพยพมาอยู่เมืองไทยพร้อมกับเจ้าสัวกิมเบ๊ผู้เป็นน้องชาย ทำมาค้าขายจนร่ำรวยจึงกลับไปตั้งหลักที่เมืองจีนอีกครั้ง จนกระทั่งญี่ปุ่นยกทัพบุกจีนเกิดสงครามในประเทศ เจ้าสัวจึงอพยพกลับมาเมืองไทยพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติมีค่าจำนวนมาก แต่เกิดอุบัติเหตุทำให้เรือของเจ้าสัวต้องพายุและอัปปางลงกลางทะเล เจ้าสัวจึงมาอยู่กับกิมหงวนและช่วยกิมหงวนดูแลกิจการค้าต่างๆ

17. นางลิ้นจี่ เป็นมารดาของนวลละออ สามีคือ หลวงมัฆวานรังสรรค์ บิดานวลละออที่เสียชีวิตไปนานแล้ว เป็นแม่ม่ายสวยพริ้ง เจ้าชู้ และยังไม่ยอมแก่ และเป็นที่หมายปองของพ่อม่ายอย่างเจ้าคุณ ปัจจนึกฯ ลุงเชย เจ้าคุณวิจิตรฯ ปัจจุบันตั้งรกรากทำการค้าอยู่ที่เชียงใหม่กับน้องชาย นานๆ จึงเดินทางมาเยี่ยมลูกสาวสักครั้งหนึ่ง

18. เจ้าแห้ว เป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยงเจ้าคุณประสิทธิ์และคุณหญิงวาด บิดามารดาก็เป็นข้าเก่า เต่าเลี้ยงของท่านเจ้าคุณและคุณหญิงเช่นกันแต่เสียชีวิตไปนานแล้วตั้งแต่เจ้าแห้วยังเล็ก คุณหญิงจึงเป็นผู้อุปการะเจ้าแห้วตลอดมาจนโต เป็นคนสนิทของ 4 สหาย ชอบสูบกัญชา และสูบฝิ่นบ้าง รูปร่างสันทัดค่อนข้างเล็ก กระโดกกระเดก กะล่อน ทะลึ่งตึงตังพอๆ กับเจ้านาย บางครั้งลามปาม แต่เรื่องงานคล่องแคล่วว่องไว มีไหวพริบดีมาก นิสัยติดจะฉลาดแกมโกง ช่างประจบเจ้านาย แต่เรื่องสำคัญๆ ไว้ใจได้ทุกอย่าง รักเจ้านายและจงรักภักดีมาก เก็บความลับของเจ้านายได้ดีโดยเฉพาะเรื่องสำคัญๆ พูดคำว่ารับประทานจนติดปาก ชอบโอ้อวดความสามารถของตัวเองอยากให้เจ้านายรักใคร่ชื่นชม

เนื้อเรื่องย่อ

หัสนิยายชุดสามเกลอ เป็นเรื่องของสี่หนุ่ม พล นิกร กิมหงวน และดิเรก ซึ่งเป็นเพื่อนรักเพื่อนเกลอกัน ความสัมพันธ์ของสี่สหายเริ่มต้นจากพลและนิกรซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและญาติสนิท พล พัชราภรณ์ เป็นบุตรชายโทนของพระยาประสิทธิ์นิติศาสตร์และคุณหญิงวาด ส่วนนิกร การุณวงศ์ เป็นบุตรชายของพระยาวิจิตรบรรณาการ ซึ่งเป็นพี่ชายของคุณหญิงวาดมารดาของพล และเขายังมีพี่สาวอีกหนึ่งคนชื่อ นันทา ทั้งเจ้าคุณประสิทธิ์ฯ และเจ้าคุณวิจิตรฯ ต่างก็เป็นข้าราชการบำนาญและมีฐานะเป็นคหบดีที่มั่งมีเป็นอย่างยิ่ง สองสหายจึงเป็นลูกผู้ดีมีเงินที่มีแต่ความสุขสบายอยู่บนกองเงินกองทอง พลเป็นหนุ่มรูปหล่อ สมาร์ท มีเสน่ห์ มีความรู้ดีและมีความสามารถหลายด้าน ส่วนนิกรเป็นชายหนุ่มรูปร่างเล็ก ปราดเปรียว มีอารมณ์ขันและหมื่นทะเล้น มีพรสวรรค์และความสามารถพิเศษแบบแปลกๆ เฉพาะตัวหลายอย่าง สองสหายต่าง คล่องแคล่วและเก่งในการเข้าสมาคมชอบดื่มเหล้าและเที่ยวเตร่ตามประสาคนหนุ่ม ซึ่งในยุคนั้นสถานเริงรมย์ที่คนหนุ่มฐานะดีนิยมไปเที่ยวกันคือ แฮปปี้ฮอลล์ ที่นี่พลและนิกรได้พบกับหนุ่มลูกจีนชื่อ กิมหงวน ไทยแท้ ในครั้งแรก ทั้งสองฝ่ายปะทะกันเพราะต่างฝ่ายต่างอวดความร่ำรวยไม่ยอมแพ้กัน แต่เมื่อรู้จักกันดีขึ้นแล้วก็เกิดความประทับใจ พึงพอใจอัธยาศัยซึ่งกันและกันและคบหาชอบพอกันจนกลายมาเป็นเพื่อนสนิทกันใน ที่สุด กิมหงวนเป็นบุตรชายของเจ้าสัวกิมเบ๊มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศไทย เขาสมรสแล้วกับ นวลละออ นักพละเอกหญิงคนแรกของประเทศไทย กิมหงวนเป็นคนทะลึ่งตึงตังและหมื่นขนาดหนัก รวมทั้งกลัวเมียอย่างที่สุดด้วย สามสหายสนิทสนมเข้ากันได้ดีเพราะต่างก็เป็นคนหมื่นทะลึ่งขนาดหนักด้วยกันทั้งนั้น แต่พลมักจะรักษากิริยาท่าทางเมื่ออยู่ต่อหน้าบุคคลอื่น พลชอบพอรักใคร่อยู่กับนันทาพี่สาวของนิกรซึ่งเป็นญาติสาวของตัวเอง ในขณะที่นิกรก็ไปหลงรักประไพลูกสาวคนเล็กของพระยาปัจจนึกพินาศ นายพลโททหารบกนอกราชการผู้หวงลูกสาวเป็นชีวิตจิตใจ และมีฐานะเป็นคหบดีคนหนึ่งแต่ขี้เหนียวขนาดหนัก ความรักของพลค่อนข้างราบรื่นผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายต่างให้การสนับสนุน แต่นิกรต้องใช้สติปัญญาและกลอุบายเป็นอย่างมากกว่าจะสามารถเอาชนะใจประไพและเจ้าคุณปัจจนึกฯ ว่าที่พ่อตาได้สำเร็จ เมื่อพลแต่งงานกับนันทาและนิกรแต่งงานกับประไพ สามเกลอของเราต่างก็เป็นนักกลัวเมียมืออาชีพ และแม่เสือลายพาดกลอนทั้งสามคือ นันทา ประไพ และนวลละออต่างก็ดุและขี้หึงขนาดหนักด้วยกันทั้งสิ้น

ต่อมา ดร. ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ นายแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ปราดเปรื่องเป็นนายหัวนอกจากอังกฤษก็เข้ามาเป็นเขยใหญ่ของเจ้าคุณปัจจนึกโดยการแต่งงานกับประภาพี่สาวของประไพ ดร. ดิเรกเป็นนายแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ค้นคว้าวิจัยที่เก่งอย่างไม่มีใครเทียบ ไม่เคยทำอะไรแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อแรกดิเรกและสามสหายต่างไม่ถูกกัน เนื่องจากดิเรกค่อนข้างไว้ตัวและถือตัวว่าเป็นนักเรียนนอก แต่เจ้าคุณปัจจนึกฯได้เข้ามาช่วยประสานจนสามสหายและดิเรกเข้ากันได้ ดิเรกเริ่มพึงพอใจอัธยาศัยของ 3 สหายจึงขอเข้าร่วมกลุ่มด้วย ดร. ดิเรกเข้ามาร่วมกลุ่มกับสามสหายจนกลายเป็นคณะสี่สหายขึ้นมา ดิเรกนั้นเป็นบุตรชายโทนของพระยานพรัตนไมตรี ซึ่งมีฐานะระดับเศรษฐีเช่นเดียวกับสองเกลอพลและนิกร ดิเรกเองแม้จะเป็นนักวิชาการคงแก่เรียนแต่เขาก็มีความหมื่นทะลึ่งซ่อนอยู่ภายในพอสมควร คณะพรรคสี่สหายจึงสนิทสนมเข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ย สร้างเรื่องตลกขบขันจี้เส้นให้คนรอบข้างอยู่ตลอดเวลา และนับจากนั้นมาคณะพรรคสี่สหายก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย เข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องราวและกิจกรรมต่างๆ สร้างความบันเทิงสนุกสนานแก่ผู้อ่านอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 30 ปี

การแบ่งยุคสามเกลอ

1. การแบ่งโดยชมรมนักอ่านสามเกลอ

ชมรมนักอ่านสามเกลอได้พยายามเรียบเรียงลำดับหัสนิยายชุดสามเกลอ แต่เนื่องจากหนังสือชุดสามเกลอนั้นมีเป็นพันๆ ตอน และใช้เวลาแต่งยาวนานถึง 30 ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ถึง พ.ศ. 2511 มีการพิมพ์โดยหลายสำนักพิมพ์ แต่ละตอนมีการพิมพ์ซ้ำหลายครั้งและมีการเปลี่ยนแปลงชื่อตอนให้ต่างไปจากฉบับพิมพ์ครั้งก่อนๆ ด้วย ประวัติและหลักฐานเกี่ยวกับการพิมพ์กระจัดกระจายและสูญหายไปเป็นจำนวนมาก มิหนำซ้ำยังมีความสับสนวุ่นวายเกี่ยวกับทางด้านลิขสิทธิ์ จึงแทบไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จะเรียบเรียงหนังสือสามเกลอนับพันตอนได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่สิ่งที่ทางชมรมพยายามจะทำให้ได้คือ การแบ่งยุคสามเกลออย่างถูกต้องและเป็นมาตรฐาน ดังนั้น ชมรมนักอ่านสามเกลอจึงได้แบ่งหัสนิยายชุดสามเกลอ ออกเป็น 4 ยุค ดังนี้

1.1 ยุคแรกหรือยุควัยหนุ่ม (พ.ศ. 2481-2485) ซึ่งความหมายของยุควัยหนุ่มนี้จะไม่เหมือนกับของผดุงศึกษา โดยจะเริ่มจากสามเกลอตอนแรก คือตอนอายผู้หญิง เรื่อยไปจนถึงตอนสงครามอินโดจีนและสิ้นสุดก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพา สำนักพิมพ์ (พิมพ์ครั้งแรก) มีเพียงแห่งเดียวคือ สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ราคาขายเล่มละ 20-35 สตางค์ คาดว่าจะมีประมาณ 150 ตอน ภายหลังสำนักพิมพ์ผดุงศึกษาได้ซื้อลิขสิทธิ์ และนำมาพิมพ์จำหน่ายจนถึงปัจจุบัน

1.2 ยุคสงครามโลก (พ.ศ. 2485-2489) ที่คาดคะเนมีประมาณ 40-50 ตอน ตามความเป็นจริงควรที่จะนับยุคนี้รวมกับยุคแรก แต่มีความจำเป็นที่จะต้องแยกออกมาเป็นพิเศษ คือ หนังสือ สามเกลอในรุ่นนี้หายากมากๆ และหาข้อมูลไม่ได้เพราะเนื่องจากหนังสือพิมพ์สมัยสงคราม กระดาษมีราคาแพงและหายากทำให้จำนวนที่พิมพ์น้อย ประกอบกับกระดาษที่พิมพ์เป็นกระดาษชั้นเลว (ที่เราเรียกว่ากระดาษเช็ดก้น) ทำให้หนังสือรุ่นนี้สูญหายไปเป็นส่วนใหญ่ ทางชมรมเคยได้ยินผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า มีตอนที่สามเกลอไปร่วมรบกับทหารญี่ปุ่น แต่ต่อมาสามเกลอก็เป็นเสรีไทยด้วย หนังสือรุ่นนี้ที่พอจะหาอ่านได้คือ สามเกลอชาโดว์ วันคาสิโน จ๊ะเอ๋ และพ่อแสนกล

1.3 ยุคกลาง (พ.ศ. 2489-2504) ในยุคนี้จะสามารถแบ่งเป็น 2 แบบ ดังนี้
1.3.1 สามเกลอในนิตยสาร (พ.ศ. 2489-2492) ในช่วงนี้ คุณ ป. อินทรปาลิต ทำงานอยู่หนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ ช่วงแรกหนังสือเพลินจิตต์และต่อมาลาออกจากเพลินจิตต์ไปเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ปิยะมิตร สามเกลอที่แต่งในช่วงนี้มักจะเป็นตอนสั้นๆ เพื่อความสะดวกที่จะไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน หรือรายสัปดาห์ได้สะดวก เช่น ตอนลักเพศ ขายลูกสาว ฯลฯ สามเกลอรุ่นนี้ได้ถูกพิมพ์ซ้ำโดยสำนักพิมพ์ผดุงศึกษา ประมาณ พ.ศ. 2493-2494 เป็นเล่มบางๆ ราคาเล่มละ 1 บาท และได้พิมพ์ต่อเนื่องจนเป็นรวมเล่มในปัจจุบัน คาดว่าจะมีตอนที่ตกหล่นหายไปพอสมควร
1.3.2 สามเกลอเป็นเล่ม (พ.ศ. 2492-2504) หลังจากที่คุณ ป. อินทรปาลิตลาออกจากปิยะมิตรแล้วได้แต่งสามเกลอขายให้แก่สำนักพิมพ์ต่างๆ หลายสำนักพิมพ์ ดังนี้
- สำนักพิมพ์บรรณาคาร เป็นสำนักพิมพ์ที่พิมพ์สามเกลอออกขายมากที่สุด คาดว่าจะมีประมาณ 200 ตอน เช่น รับเสด็จ เสือสเปญ
- สำนักพิมพ์เขษมบรรณกิจ ช่วงประมาณ พ.ศ. 2492-2495 แต่มีจำนวนไม่มากนัก เช่น ตอนป่าช้าผีตาย ชุดของอัฟริกา
- สำนักพิมพ์ประมวลสาส์น ช่วงประมาณ พ.ศ. 2499-2504 มีประมาณ 50 ตอน เช่น ตอนไส้โค นักสืบนักสู้ นักดาบสามเกลอ ซึ่งได้จัดพิมพ์อีกครั้งโดยสำนักพิมพ์คิงส์บุ๊ค

1.4 ยุคปลาย (พ.ศ. 2505-2511) สามารถแยกได้ดังนี้
1.4.1 สามเกลอเป็นเล่ม มีหลายสำนักพิมพ์ดังนี้
- บันลือสาส์น (พ.ศ. 2508-2511) จะมีการพิมพ์ออกมามากที่สุด ประมาณว่าจะมีประมาณ300-400 เล่ม เช่น ตอนอภินิหารหลวงพ่อทวด
- บันดาลสาส์น (พ.ศ. 2507-2509) ไม่มากนักประมาณ 30-50 ตอน
- ผดุงศึกษา (พ.ศ. 2509-2509) ประมาณ 20-30 ตอน
- ประพันธ์สาส์น (พ.ศ. 2508-2511) ประมาณ 30 ตอน

1.4.2 สามเกลอที่พิมพ์รวมกับเรื่องอื่น
- ศาลาโกหก (พ.ศ. 2506-2511) ประมาณ 90 เล่ม โดยผดุงศึกษาและ ประพันธ์สาส์น
- สวนสำราญ (พ.ศ. 2509) ประมาณ 10 เล่ม

2. การแบ่งตามวิวัฒนาการแห่งสังคมไทย ซึ่งได้แบ่งออกเป็น 3 ยุค ดังนี้

ยุคเบื้องแรกประชาธิปไตย คือเรื่องราวและเหตุการณ์ในช่วงเวลาก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งอยู่ระหว่างปี 2482-2483 พล นิกร กิมหงวนในยุคนี้สะท้อนเรื่องราวและบรรยากาศของสังคมไทยในยามปกติสุขภายใต้การปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเข้ารูปเข้ารอย

ยุคสงครามและสันติภาพ ซึ่งครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่เกิดกรณีพิพาทกับอินโดจีนของฝรั่งเศสเมื่อปลายปี 2483 ต่อเนื่องกับต้นปี 2484 แล้วจึงมาถึงสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพาที่ญี่ปุ่นบุกไทยในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 จนถึงวันสันติภาพ 16 สิงหาคม 2488 ต่อด้วยสงครามเกาหลีที่ตามมาก่อนจะถึงยุค “สงครามเย็น” ซึ่งประเทศไทยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย จนถึงกึ่งพุทธกาล (พ.ศ. 2500) รวมเวลาประมาณ 15 ปี พล นิกร กิมหงวนในยุคดังกล่าวนี้ได้สะท้อนเหตุการณ์ในระหว่างสงครามต่างๆ ที่ประเทศไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง สลับกับภาวะปกติภายหลังสงครามในหลายช่วงเวลา

ยุคสุดท้ายของหัสนิยาย พล นิกร กิมหงวน คือ ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2500 ไปจนถึง พ.ศ. 2511 ซึ่งเป็นปีที่ ป. อินทรปาลิตถึงแก่กรรม ซึ่งอาจเรียกว่ายุคโลกาภิวัฒน์ เป็นการบันทึกเหตุการณ์และบรรยากาศของสังคมไทยในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเร่งพัฒนาเศรษฐกิจท่ามกลางกระแสความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่การต่อสู้แย่งชิงประชาชนด้วยการใช้กำลัง นอกจากนั้นยังเป็นยุคที่อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกได้แผ่เข้ามาในสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้านตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น

3. การแบ่งตามสภาวการณ์ทางสภาพการณ์การเมืองไทย โดยผู้เขียนได้แบ่งออกเป็น 4 ยุค ดังนี้

3.1 ยุคประชาธิปไตย เป็นยุคที่การเมืองไทยดำเนินอยู่ในครรลองของเบื้องแรกประชาธิปไตย ที่คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาตั้งแต่ปี 2475 เป็นสภาพสังคมไทยที่สงบสุขก่อนการเข้าสู่ภาวะสงคราม ประชาชนเริ่มยอมรับในระบอบการปกครองแบบใหม่ ยุคนี้เป็นช่วงสั้นๆ ตั้งแต่ปี 2482-2483

3.2 ยุคชาตินิยมและรัฐนิยม สงครามและสันติภาพ เผด็จการและเสรีนิยม เป็นยุคที่ รัฐบาลรณรงค์ในเรื่องชาตินิยมและมีการประกาศใช้รัฐนิยมจำนวนมาก และประเทศไทยเข้าสู่สภาวะสงคราม โดยเริ่มจากสงครามอินโดจีนตั้งแต่ปลายปี 2483-ต้นปี 2484 จากนั้นก็อยู่ในภาวะสันติภาพช่วงสั้นๆ ก่อนเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพาในเดือนสิงหาคม 2484 จนถึงวันฉลองสันติภาพ 16 สิงหาคม 2488 การเมืองไทยอยู่ภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และรัฐบาลพลเรือนหลายคณะ ในช่วงสั้นๆ ยุคนี้กินเวลาประมาณ 7 ปี คือตั้งแต่ปลายปี 2483 ถึงปี 2490

3.3 ยุคเผด็จการ ความหวาดระแวงและภัยทางการเมือง ความหวาดระแวงและภัยมืด เป็นการกลับสู่อำนาจเป็นครั้งที่สองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม การเมืองไทยในขณะนั้นเป็นยุคแห่งความวิตกกังวล หวาดระแวง ความแตกแยก ความขัดแย้ง และการกำจัดฝ่ายตรงข้ามหรือคู่แข่งทางการเมือง เป็นยุคที่การก่อรัฐประหารชุกชุม การเมืองขาดเสถียรภาพและความมั่นคงเป็นอย่างมาก ยุคนี้กินเวลาประมาณ 10 ปี คือตั้งแต่ปี 2491-2500

3.4 ยุคเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ ทหารครองอำนาจการเมืองอย่างเด็ดขาด การเมืองอยู่ภายใต้อำนาจของทหาร ยุคนี้กินเวลาตั้งแต่ปลายปี 2500-2511 ซึ่งเป็นปีที่ผู้ประพันธ์เสียชีวิต แต่ในยุคนี้ ผู้เขียนไม่ได้ทำการศึกษามาถึง เนื่องจากขีดจำกัดและอุปสรรคหลายๆ ประการตามที่เคยได้กล่าวถึงมาแล้ว






All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.